เราทราบกันดีว่า เริ่มต้นอะไรใหม่ๆทั้งที ก็จะมีเรื่องราวที่ท้าทายมาให้เราได้พิสูจน์ทดลองความเอาจริงของเราเป็นธรรมดา เพราะเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ไม่อาจควบคุมได้ทั้งภายใน – คือตัวเราเองที่ต้องฝืนต้องฝึกต้องฝนทำอะไรบางอย่างที่เราอาจไม่ถนัดหรือไม่เคยมาก่อน และภายนอก – คือสังคมและกลุ่มคนที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยนั้น อาจก่อให้เกิดสถานการณ์หรือสภาพที่ไม่เอื้ออำนวยมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป


การที่เราเองตั้งความหวังที่ค่อนข้างสูงไว้กับตัวเอง ประกอบกับความกดดันจากสภาพแวดล้อมภายนอกเช่นนี้ อาจทำให้เราเองรู้สึกท้อแท้ หรืออาจรู้สึกแย่กับตัวเอง ว่าฝึกอย่างไรก็ยังใช้งานไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเสียที และหากกำลังรู้สึกอย่างเช่นที่ว่ามานี้ ก็ขอให้รู้ไว้เถิดว่า “You are not alone” นะจ๊ะ … เพราะผู้เขียนเองก็เคยสัมผัสประสบการณ์เช่นนั้นมาแล้ว เคยถึงขนาดที่เรียบเรียงเรื่องราวมาแล้วเป็นอย่างดี ตั้งใจเต็มที่ว่าจะเดินตรงเข้าไปคุยงานกับหัวหน้าที่เป็นชาวต่างชาติ แต่เมื่อเดินไปถึง กลับเริ่มต้นไม่ถูก … หรือบางครั้งเริ่มต้นได้ แต่ไปต่อไม่เป็น … และยังมีทั้งที่เริ่มต้นได้ อธิบายพอเป็น … แต่ !!! … พอหัวหน้าท่านถามกลับมา แบบที่แตกต่างกับที่เราเตรียมคำตอบไว้ เราก็ใบ้รับประทานกันเลยทีเดียว … (- -“)


~ การที่จะผ่านพ้นอารมณ์ความรู้สึกตรงนี้ไปได้นั้น ความมุ่งมั่นที่จะพยายามทำสิ่งต่างๆ อย่างเข้มแข็ง อดทน และไม่ท้อถอยจึงมีเป็นเรื่องที่สำคัญอีกขั้นหนึ่งที่เราจะต้องมี เพื่อก้าวไปให้ถึงเป้าหมาย


~ เครื่องมือที่สำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้เรามีความมุ่งมั่นฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ ไปได้อย่างไม่หวั่นไหว ก็คือการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีอย่างน้อย 2 ประการ ให้มีขึ้นในตัวเรา ได้แก่ 1) ฝึกมองแง่ดี ~ positive และ 2) ฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอ ~ consistent


~ การมองให้เห็นแง่ดี แม้จะต้องใช้เวลาในการฝึกอยู่พอสมควร แต่ยิ่งเริ่มฝึกได้เร็วเท่าใด เราก็จะสามารถพลิกแง่คิดของเราให้เข้าสู่พื้นฐานด้านดีๆได้เร็วขึ้นเท่านั้น แม้ว่าบางครั้งอาจเกิดสถานการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกแย่ทั้งกับตัวเองและสิ่งรอบข้าง แต่เชื่อว่าหลายคนในที่นี้น่าจะได้อ่านผ่านตา หรือศึกษาเรียนรู้มาบ้างไม่มากก็น้อย เรื่องกฎของแรงดึงดูด ที่สรุปสั้นๆ ได้ว่า หากเราคิดเช่นไรบ่อยๆ ก็จะมีแนวโน้มที่จะเป็นดังคิดอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นเราควรฝึกตัวเองให้ว่องไวต่อการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจนเกิดความชำนาญ ด้วยการฝึกเข้าใจและให้อภัย ทั้งตัวเองและผู้อื่น เช่น เข้าใจสภาพแวดล้อมในการทำงานว่าก็ย่อมจะต้องเร่งรีบและกดดันเป็นธรรมดา เพื่อที่เราจะได้พร้อมที่ให้อภัยตัวเองและผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ที่เร่งรีบเช่นนั้น


~ การฝึกฝนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ นั้นเราสามารถพิจารณาได้ง่ายๆ จากการที่เราเคยต้องตื่นเช้าเวลาใดเป็นประจำ บ่อยเข้า บ่อยเข้า ร่างกายจะสามารถเกิดความเคยชินจนบางครั้งเราสามารถสังเกตได้ว่า เราตื่นลืมตาหรือรู้สึกตัวก่อนที่นาฬิกาจะร้องบอกเวลาตามที่เราตั้งไว้เสียอีก … การฝึกฝนอุปกรณ์ในการฟังและการพูดของเราก็เช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญคือการกำหนดตารางเวลาของเราเองไว้อย่างชัดเจนแน่นอน เหมือนกับนักกีฬาที่กำหนดเวลาฝึกซ้อมร่างกาย… เช่น หลังจากทานข้าวเย็นทุกวัน วันละ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง … แต่ทั้งนี้ หากมีเหตุใดที่จำเป็นจริงๆ ก็อาจยืดหยุ่นกับตัวเองได้บ้าง แต่ก็ต้องชดเชยเวลาฝึกฝนนั้นคืนให้กับตัวเองในวันถัดไป หรือภายในสัปดาห์นั้นๆ ด้วยเช่นกันนะจ๊ะ … Enjoy your practice! … (‘_^)


Step 2: มุ่งมั่น (Effort)

แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันเสาร์, 25 สิงหาคม 2018, 1:59AM